THE FORMER NARA PRISON

THE FORMER NARA PRISON

อาคาร

สถาปัตยกรรมเรือนจำเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นที่เพียบพร้อมด้วยความงามและประสิทธิภาพใช้งาน

เรือนจำเก่านารา เป็นหนึ่งสุดยอดเรือนจำทั้ง 5 แห่งยุคเมจิ (ชิบะ, คานาซาว่า, นารา, นางาซากิ, คาโงชิม่า) เรือนจำสร้างขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1980 (ปีเมจิที่ 41) ได้รับการออกแบบโดยนายยะมะชิตะ เคจิโร่ ผู้เคยออกแบบทั้งเรือนจำและศาลมาแล้วมากมายซึ่งทำงานให้กับกระทรวงตุลาการในขณะนั้น แรงงานเกินกว่าครึ่งที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นนักโทษ อีกทั้งว่ากันว่าอิฐที่ใช้ก่อสร้างยังเป็นอิฐที่ผลิตขึ้นเองจากเตาเผาที่สร้างขึ้นไว้ภายในบริเวณเรือนจำอีกด้วย
อาคารอิฐแดงรูปแแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่สวยงามให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคงแม้ในยุคปัจจุบัน ทุกส่วนถูกแฝงไว้ด้วยเทคนิคและการออกแบบชั้นแนวหน้าในยุคนั้น ณ ใจกลางพื้นที่กว้างกว่า 1 แสน 6 พันตารางเมตรซึ่งถูกร้อมลอบด้วยกำแพงอิฐแดง ก่อสร้างเป็นอาคารห้องขังที่ทอดตัวเรียงเหมือนรัศมีออกจากศูนย์กลางที่เรียกว่า “ระบบฮาวิลแลนด์”
เรือนจำเก่านาราที่ถูกใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษมาจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.2017 (ปีเฮเซที่ 29) นับเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ได้กลายเป็นสถาปัตยกรรมเรือนจำที่คงสภาพสมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น จึงทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน เรือนจำแห่งนี้จึงได้รับการจดบันทึกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น

แผนที่เรือนจำเก่านารา

ประตูหน้า

ประตูหน้าที่เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ ประกอบด้วยทางเข้าที่มีเพดานโค้งและหอคอยทรงกระบอกตั้งอยู่ทั้งสองด้าน หอคอยทรงกระบอกนี้ มีหลังคาทรงโดมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หอคอยทรงกระบอก
หลังคาทรงโดมโบกปูนมอร์ตาร์เพื่อกันไม่ให้ลมฝน กัดกร่อน ส่วนด้านบนมียอดแหลมประดับอย่างงดงาม ภายในหอมีบันไดเชื่อมถึงชั้น 2 ของภายในอาคารประตูหน้า ที่หน้าต่างติดตั้งซี่กรงเหล็กดัดไว้ซึ่งเป็นของเดิมที่ยังคงหลงเหลือมาจากสมัยแรกสร้าง
คิ้วผนังลายลอมบาร์ด
ส่วนบนของประตูหน้าตกแต่งด้วยคิ้วผนังลายลอมบาร์ดซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ นอกจากประตูหน้าแล้ว ยังพบลายลอมบาร์ดที่มีลักษณะเป็นซี่ๆ เฉพาะตัวถูกตกแต่งไว้ทั่วไปในอาคารอื่นๆ ภายในพื้นที่อีกด้วย
ฝาผนัง
อิฐก่อในสไตล์อังกฤษ คือใช้ด้านยาวและด้านข้างของอิฐก่อเรียงสลับทีละแถว รอบประตูและหน้าต่างประดับด้วยหินแกรนิตสีขาวที่ผ่านการขัดด้วยหินลับมีดมาแล้ว

ทางเข้า~ที่ว่าการ

อาคารอิฐแดง 2 ชั้น หลังคาปูกระเบื้องแบบซันกะวะระ ใจกลางมีหอคอยยอดแหลมสีน้ำเงินอมเขียว หลังคาใช้โครงถักที่ทำจากไม้และส่วนพื้นของชั้น 1 และ ชั้น 2 ยังประกอบจากวัสดุไม้อีกด้วย
หอคอยยอดแหลม
ใจกลางของที่ว่าการเป็นที่ตั้งของหอคอยที่มียอดแหลมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งมีหลังคาสีน้ำเงินอมเขียวที่ทำจากแผ่นทองแดง ส่วนบนของหอคอยยอดแหลมติดตั้งสายล่อฟ้าเอาไว้ นอกจากนี้ส่วนบนของชั้น 2 ยังสามารถชมหน้าต่างวงกลมที่ประดับด้วยหินแกรนิตงดงาม
หน้าต่าง
หน้าต่างสูงมีส่วนโค้งครึ่งวงกลมเรียงสลับกับหน้าต่างซี่กรงตัดกันซ้ายขวา ส่วนบนของหน้าต่างยังก่อเป็นรูปโค้งโดยใช้อิฐรูปลิ่ม จึงกลายเป็นโครงสร้างที่รองรับน้ำหนักได้ดี
โกดัง
โกดังอิฐแดงที่ถูกสร้างไว้ทั้งด้านซ้ายและขวาของสวนที่ทอดยาวจากประตูหน้าไปที่ว่าการ คันทวยหลังคากันสาดของทางเข้าออกประดับไว้ด้วยของตกแต่งที่มีลักษณะกลมขาว ซึ่งพบเห็นทั่วไปจากอาคารอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่
ห้องตัดแต่งทรงผมวะคะคุตสะ
อาคารสีขาวที่ตั้งอยู่หน้าโกดังคือห้องตัดแต่งทรงผมวะคะคุตสะ ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับให้นักโทษบริการตัดแต่งทรงผมให้ชาวเมืองทั่วไป ซึ่งบริการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกในแผนกศึกษาการตัดแต่งทรงผม

ห้องดูแลควบคุมส่วนกลาง

ศูนย์กลางของอาคาร 2 ชั้นที่เป็นห้องขังนักโทษทั้ง 5 อาคารที่กระจายตัวเป็นรูปรัศมี มีหอประชุมขนาดใหญ่ และจัดวางแท่นสังเกตการณ์เอาไว้ หลังคาของชั้น 1 เปิดโล่ง จึงสามารถมองสอดส่องสภาพของชั้น 1 ได้จากแท่นสังเกตการณ์ชั้น 2 ได้
เพดาน
แสงอาทิตย์อันอบอุ่นสาดส่องลงมาจากหน้าต่างสูงบนเพดานไม้ที่มีโครงไม้ยกขึ้นกระจายเป็นรูปรัศมี
ระบบฮาวิลแลนด์
ด้วยการจัดวางอาคารห้องขังเรียงเป็นรัศมีโดยมีแท่นสังเกตการณ์เป็นจุดศูนย์กลาง จึงทำให้สามารถมองอาคารห้องขังทั้ง 5 อาคารจากห้องเฝ้าระวังกลางได้ในคราเดียว

อาคารห้องขัง

เป็นอาคารอิฐแดง 2 ชั้น อาคารหมายเลข 1-4 เป็นห้องขังเดี่ยว ส่วนหมายเลข 5 เป็นห้องขังรวม รวมทั้งหมดมีประมาณ 500 ห้อง ด้านในของหมายเลข 1 เป็นสถานที่ตรวจสอบนักโทษและสิ่งของที่นักโทษนำติดตัวขณะไปโรงงาน
เพดาน
เพดานเจาะเป็นหน้าต่างบานใหญ่เพื่อให้มีแสงสว่าง เพดานชั้น 1 บางส่วนเปิดโล่งเพื่อให้แสงสว่างจากชั้น 2 สาดส่องถึงชั้น 1 ได้
พื้น
ในจุดที่มีผู้คนเดินผ่านบ่อยๆ จะปูพื้นด้วยหินแกรนิตซึ่งเป็นวัสดุที่มีความทนทานเป็นเยี่ยม

ห้องขัง

ห้องขังเดี่ยวที่ถูกนำมาปรับใช้ตามประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปตะวันตก ถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักโทษขนานใหญ่เมื่อเทียบกับกรงขังสำหรับนักโทษหลายคนขนาดประมาณ 2.42 ตร.ม. ที่ตากลมฝนในสมัยเอโดะ
บานประตู
บานประตูเป็นไม้หนาหนักที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มสร้าง มีช่องหน้าต่างสำหรับใช้มองตรวจสภาพภายในและช่องสำหรับรับส่งภาชนะ ประตูด้านในห้องไม่มีลูกบิด จึงไม่สามารถเปิดประตูจากภายในได้แม้ว่าประตูไม่ถูกล็อคก็ตาม

ลานออกกำลังกาย

ลานออกกำลังกายที่มีขนาดกว้างใหญ่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาเขตเรือนจำ หน้าแท่นหินที่เขียนไว้ว่า “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ด้วยตัวเราเอง” จะมีการอบรมยามเช้าของนักโทษทุกเช้า
อิฐแดง
อิฐที่เป็นผลงานจากการแข่งขันเผาอิฐของนักโทษแต่ละกลุ่ม พื้นของทางเดินจากลานออกกำลังกายไปลานฝึกภาคปฏิบัติถูกปูด้วยอิฐให้สามารถมองเห็นตราประจำของนักโทษแต่ละกลุ่มได้
กำแพง
กำแพงอิฐแดงเดิมและกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นใหม่กระจายตัวล้อมรอบบริเวณเรือนจำโดยรอบทั้งหมด นอกจากนี้ปัจจุบันยังหลงเหลือหลุมที่ใช้เป็นจุดเฝ้าระวังในสมัยก่อนอยู่อีก 2 แห่ง